Fanta: น้ำซ่าหลากสีที่เกิดได้ท่ามกลางสงคราม
January 15, 2020 - by admin Branding, Creative
แฟนต้า เปิดประวัติ แฟนต้า น้ำซ่าหลากสีแบรนด์ใหญ่ที่มีจุดเริ่มต้นจากไอเดียกู้วิกฤติ
ต่อให้พยายามเลี่ยงแค่ไหนหรือเตรียมพร้อมไว้ดีอย่างไร ธุรกิจก็อาจพบจุดสะดุดได้ ยิ่งถ้าเกิดจากปัจจัยภายนอก คงไม่ง่ายกว่าจะฝ่าไปได้ เพราะเป็นปัญหาที่กระทบต่อทั้งระบบ แต่หากประคองจนรอดมาได้ อาจเป็นการออกตัวครั้งใหม่ที่สดใสกว่าเก่า เหมือนกับ Fanta ที่เปลี่ยนความขาดแคลนช่วงสงครามให้เป็นโอกาสสร้างธุรกิจ
แฟนต้า เปลี่ยนวิกฤตช่วงสงครามเป็นโอกาสสร้างแบรนด์
ประวัติของ Fanta นั้นผูกติดอยู่กับ Coca-Cola สงครามโลกครั้งที่ 2 และเยอรมนี เริ่มจากการเป็นโรงงานใหญ่ของ Coca-Cola ในเยอรมนี ซึ่งผลิตน้ำอัดลมชื่อเดียวกันป้อนตลาดเยอรมนีรวมถึงหลายประเทศในยุโรป มาตั้งแต่ปี 1929
ตำแหน่งผู้นำตลาดของแบรนด์น้ำดำสัญชาติอเมริกันในชาติมหาอำนาจยุโรปขณะนั้นถือว่ามั่นคงมาก เพราะเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของทั้งประชาชนและคนในรัฐบาลพรรคนาซี
ความนิยมของ Cola-Cola ในเยอรมนีถึงขีดสุดในยุค 30 ด้วยการเป็นสปอนเซอร์หลักของโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุง เบอร์ลิน ปี 1936 ซึ่งนักกีฬาชาติเจ้าภาพกวาดเหรียญทองได้อย่างมากมาย
ทว่าแนวโน้มการเข้าสู่สงครามโลกของเยอรมนีในฐานะแกนนำฝ่ายอักษะ ก็ทยอยส่งผลต่อ Coca-Cola เริ่มจากการถูกใส่ร้ายว่าเป็นบริษัทที่หนึ่งในผู้บริหารเป็นชาวยิว ซึ่งถูกชาวเยอรมันต่อต้านอย่างหนักฉุดให้ยอดขายตก
ฝันร้ายของ Coca-Cola มาถึงในปี 1940 เมื่อเยอรมนีกับสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามเต็มตัว และต่างมีฐานะเป็นแกนนำของฝ่ายตน รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของนาซีจึงสั่งห้ามนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทั้งหมดจากสหรัฐฯ รวมถึงน้ำเชื่อมจากบริษัทแม่ของ Coca-Cola ด้วย
Max Keith ผู้บริหารของ Coca-Cola ในเยอรมนีซึ่งมีโรงงานอยู่ในความดูแลมากมาย ได้ตัดสินใจผสมน้ำเชื่อมขึ้นมาใหม่ จากหางนม แอปเปิ้ล และน้ำตาลจากหัวบีต (Beet Sugar) ซึ่งนี่เองถือเป็นปีแรกที่ Fanta เริ่มกิจการ
น้ำอัดลมแบรนด์น้องใหม่สมัยสงครามโลก ซึ่งชื่อกร่อนมาจากคำว่า Fantasie ที่หมายถึงจินตนาการในภาษาเยอรมัน หลัง Keith บอกกับหนึ่งในฝ่ายขายว่า “ให้ลองใช้จินตนาการดูว่าจะใช้ชื่ออะไร” ไม่ได้แค่อยู่รอดได้ในช่วงสงคราม แต่ยังทำยอดขายได้อย่างถล่มทลาย
ในทุกวิกฤติธุรกิจย่อมมีโอกาส เพียงเราหาทางออกให้กับปัญหา เราอาจพบทางใหม่ที่ทำให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
Reference https://marketeeronline.co/archives/122411